ภาพกิจกรรม
โครงการจัดงานประเพญีลอยกระทง ประจำปี 2565
1686
21 พฤศจิกายน 2565

        ลอยกระทง เป็นประเพณีที่สำคัญและถือปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนานตั้งแต่สมัยที่มีผู้คนอาศัยอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิ สันนิษฐานว่าการลอยกระทงจะเป็นคติของชนชาติที่ประกอบการกสิกรรม ซึ่งต้องอาศัยน้ำในการเพาะปลูก เมื่อถึงเวลานํ้าหลาก จึงทำกระทงลอยเพื่อขอบคุณแม่คงคาหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ประทานนํ้าให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ ตามด้วยการละเล่นรื่นเริงที่แสดงถึงการแล้วเสร็จของภารกิจที่ได้กระทำมาแล้ว จนเห็นผล ประเพณีลอยกระทงจึงเป็นประเพณีของคนในสังคมลุ่มนํ้า ซึ่งประกอบอาชีพทางการเกษตรโดยปรากฏทั้งในอินเดีย พม่า ลาว เขมรและไทย ซึ่งปฏิบัติแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ในประเทศไทยมีการจัดประเพณีลอยกระทงแตกต่างไปตามพื้นที่ภาคต่าง ๆ ดังนี้
      การลอยกระทงในภาคกลาง จะจัดขึ้นเฉลิมฉลองตามวาระในเทศกาลนํ้านอง เป็นงานสนุกสนานรื่นเริงของผู้คนที่อาศัยตามแม่นํ้าลำคลอง นิยมทำกระทงใบตอง ปักดอกไม้ธูปเทียน เพื่ออธิษฐานขอพรและขอขมาแม่คงคา มีการจุดดอกไม้เพลิง เป็นการเล่นสนุกในวันเพ็ญเดือนสิบสอง ในอดีตชาวบ้านนิยมตักนํ้าตอนเที่ยงคืนไว้กิน อาบ หรือลูบหน้าลูบตัว เพื่อความเป็นสิริมงคล เพราะเป็นเวลาที่นํ้าใสสะอาด
      การลอยกระทงในภาคเหนือ นิยมทำกันในเดือนยี่เป็ง (ตรงกับเดือน ๑๒ ของภาคอื่น ๆ) มีคำเรียกแต่โบราณว่า "ประเพณีลอยโขมด” หรือ "ลอยไฟ” ระยะหลังเรียกกันว่า "ลอยสะเปา” คือ ลอยสำเภา หมายถึง ลอยกระทงขนาดใหญ่ที่ทำประกวดกัน จุดประสงค์เพื่อส่งประทีป ดอกไม้ ธูปเทียนไปถวายนมัสการต่อพระมหาอุปคุตเจ้า ผู้มีบริกรรมพำนัก ณ ใต้ท้องมหานที มีการทำความสะอาดบ้านเรือน ประดับหิ้งบูชาพระด้วยดอกไม้ พร้อมกับจัดเตรียมประทีปหรือเทียนจุดบูชาตามบ้านเรือนและวัดต่าง ๆ ก็จัดตกแต่งสถานที่ด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อย ทางมะพร้าวและธงทิว มีการประดิษฐ์โคมไฟ หรือ "โคมผัด” และนำไปตั้งหรือแขวนประดับตามอาคารและสถานที่ต่าง ๆ ภายในวัด ในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ คํ่า มีการทำบุญนำภัตตาหารไปถวายพระ มีการฟังเทศน์มหาชาติแบบพื้นเมืองที่เรียกว่า "การตั้งธรรมหลวง” ตลอดทั้งคืน มีการปล่อยโคมลอยเพื่อบูชาพระจุฬามณี บนสวรรค์อีกด้วย
      การลอยกระทงในภาคอีสาน เรียกว่า "เทศกาลลอยเรือไฟ” หรือ "ปล่อยเฮือไฟ” โดยถือปฏิบัติในเทศกาลออกพรรษา ช่วงวันขึ้น ๑๕ คํ่า ถึงแรม ๑ คํ่า เดือน ๑๑ เมื่อใกล้ออกพรรษา ชาวบ้านจะรวมกันเป็น "คุ้ม” โดยยึดเอาชื่อวัดใกล้บ้านเป็นหลักในการตั้งชื่อคุ้ม ชาวคุ้มต่าง ๆ จะจัดให้มีการแข่งเรือและการไหลเรือไฟในช่วงดังกล่าว
      การลอยกระทงของชาวใต้ นิยมนำเอาหยวกมาทำเป็นแพ แล้วบรรจุเครื่องอาหารและลอยไปการลอยกระทงของภาคใต้ มิได้กำหนดว่าเป็นกลางเดือน ๑๒ หรือเดือน ๑๑ แต่จะลอยเพื่อการสะเดาะเคราะห์ เพื่อให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ การตกแต่งเรือหรือแพลอยเคราะห์ ทำโดยการแทงหยวกให้เป็นลวดลาย ประดับธงทิว ภายในบรรจุดอกไม้ ธูปเทียน เงินและเสบียงต่าง ๆ ใส่ไว้ในแพ
ลอยกระทง เป็นประเพณีที่ผู้คนในสังคมไทยสืบทอดต่อกันมาช้านานด้วยฐานคติความเชื่อต่าง ๆ และถือเป็นการแสดงความเคารพบูชาต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า การแสดงออกถึงความกตัญญูและเห็นคุณค่าของแม่นํ้า เป็นโอกาสในการจัดกิจกรรมสืบทอดทางวัฒนธรรมร่วมกันของครอบครัวและชุมชน รวมทั้งเป็นการทำนุบำรุงและสืบทอดพระพุทธศาสนาอีกทางหนึ่ง
      ลอยกระทง ได้รับการประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๔

ทั้งนี้เทศบาลตำบลเกาะนางคำเห็นถึงความสำคัญต่อการร่วมสืบสารประเพณี วัฒนธรรมไทยที่ดีงามให้คงอยู่ในสังคมตลอดไป จึงได้จัดทำโครงการประเพณีลอยกระทง ประจำปี 2565 ขึ้่น